Mobirise
วิศวกรรมชีวการแพทย์คืออะไร
วิศวกรรมชีวการแพทย์ หรือบางที่เรียกว่า ชีวเวช (Biomedical Engineering) เป็นศาสตร์แขนงใหม่เชิงสหวิชาการที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์สาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ เช่น ชีววิทยา ฟิสิกส์ และ เคมี เข้าด้วยกันและประยุกต์เชิงบูรณาการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาหรือช่วยในการออกแบบสร้างอุปกรณ์พิเศษที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่รู้จัก กันแพร่หลาย ได้แก่ การสร้างอวัยวะเทียม การสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดทางชีววิทยาเป็นต้น เนื่องจากวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นสาขาที่มีความสัมพันธ์แบบสหวิชาการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์จะต้องมีพื้นความรู้และประสบ การณ์ที่กว้างและมองปัญหาในประเด็นต่างๆเชิงบูรณาการได้ดี ในหน่วยงานทางการแพทย์และการสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล วิศวกรชีวการแพทย์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการฝึกอบรมการใช้งาน ดูแลรักษาซ่อมบำรุงเครื่องมือทางการแพทย์ การจัดการบริหารเทคโนโลยีและระบบต่างๆ ในโรงพยาบาล ส่วนในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์ และบริษัทด้านเครื่องมือทางการแพทย์ วิศวกรสาขานี้จะ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืออาจเป็นผู้ประกอบ การเชิงพาณิชย์จากผลงานของตนเอง หรือเป็นนักวิจัยหรือทำงานในสายวิชาการ เมื่อประเทศมีวิศวกร ชีวการแพทย์ ที่เป็นนักวิจัยและมีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ได้ จะทำให้สามารถลดการนำเข้าอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
          จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ประมาณ 250 ราย รวมจำนวนคนงานทั้งสิ้นประมาณ 200,000 คน โดยมีการส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในปี 2544 มูลค่ารวมประมาณ 12,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยของการส่งออกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เท่ากับ 24 % ต่อปี (พิกัดศุลกากร HS9018-HS9022) ในขณะที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กำหนดให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข เป็นหนึ่งในหกกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในแผนกลยุทธ์ของ สวทช. (NSTDA strategic planning alliance) ในปีงบประมาณ 2549-2553 ซึ่งเป็นช่วงของแผนกลยุทธ์แผนที่ 4
          ในส่วนของการเรียนการสอนของวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นสาขาวิชาที่นำเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อออกแบบ สร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน สามารถใช้งานได้จริง รวมถึงการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน และต้องการขั้นตอนการผลิตที่มีมาตรฐาน และ ประสิทธิภาพสูง เช่น เทคโนโลยีในเครื่องมือผ่าตัด เครื่องส่องดูอวัยวะในร่างกาย อุปกรณ์จ่ายยาอัตโนมัติ ข้อต่อหรืออวัยวะเทียม เครื่องวิเคราะห์สัญญาณหัวใจหรือสมอง อุปกรณ์ตรวจสอบระบบน้ำตาลในเลือด และระบบผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เป็นต้นดังนั้นสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์จึงเป็นสาขาวิชาที่บูรณาการศาสตร์ต่างๆ ต่อไปนี้ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นาโนเทคโนโลยี วัสดุศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ แพทยศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการนำความรู้เฉพาะทางมาใช้พัฒนาหรือสร้างเครื่องมือ ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์
เรียนจบวิศกรรมชีวการแพทย์แล้วทำงานอะไรได้บ้าง
          1. ทำงานบริษัทในตำแหน่งวิศวกร เนื่องจากความรู้ที่เราได้ศึกษาจากสาขานี้เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีได้เอง จึงแตกต่างจากการไปเรียนรู้แค่การใช้งานเครื่องมือเหมือนในสาขาอื่นๆ อย่างสาขาอุปกรณ์การแพทย์ หรือเทคนิคการแพทย์นั้น จะได้เรียนรู้ว่าเครื่องมือแพทย์นั้นทำงานอะไร แล้วใช้อย่างไร แต่ถ้าจบจากสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์จะทราบถึงการทำงาน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือเหล่านั้นเพื่อให้เราสามารถพัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือเหล่านั้นได้เอง หรือรวมไปถึงความเข้าใจในเชิงลึกของระบบการทำงาน ซึ่งสามารถให้ความเห็นเพื่อประเมินและวิเคราะห์การทำงานของเครื่องมือแพทย์ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายกลไกหรือข้อมูลทางเทคนิค (Specification) ของอุปกรณ์และระบบเครื่องมือแพทย์ให้แก่ผู้ใช้งานได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งทำให้การตรวจวัดเพื่อซ่อมบำรุงเป็นไปตามหลักการทางวิศวกรรม
          2. เปิดบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เอง เพราะขณะนี้ตลาดด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศเป็นที่ต้องการสูงมาก เนื่องจากเราต้องนำเข้าเครื่องมือแพทย์มาซึ่งมีราคาแพง
          3. เป็นนักวิจัยสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ สามารถทำงานทั้งในหน่วยงานรัฐบาล เช่น กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาล, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัย หรือทำงานในหน่วยวิจัยของบริษัทเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล เช่น Siemens, General Electric, Medtronic, Philips, Toshiba ฯลฯ  
หมายเหตุ
          บทความข้างต้น ดัดแปลงและแก้ไขจาก http://www.unigang.com/Article/1072
          ด้านล่างคือวีดีโอประชาสัมพันธ์หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ มศว (ภาษาอังกฤษ) บทสัมภาษณ์ อาจารย์ ดร. วงศ์วิทย์ เสนะวงศ์ หัวหน้าสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มศว รวมถึงนิสิตวิศวกรรมชีวการแพทย์ เกี่ยวกับการเรียนการสอนและอาชีพของวิศวกรรมชีวการแพทย์ และ วีดีโอแนะนำสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์จากรายการเปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย
ที่อยู่:

อาคารวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางวิศวกรรมไฟฟ้า (อาคาร G) ชั้น 7

ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์
คณะวิศกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
63 หมู่ 7 ต.องครักษ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก 26120


ติดต่อ:

อีเมล
โทร: 026495000 ต่อ 27062

Address:
  • Electrical Engineering R&D Building (Building G), floor 7

  • Department of Biomedical Engineering, Srinakharinwirot University
  • 63 Moo 7, Ongkharak,
  • Nakhon Nayok, 26120
Contacts:

Email
Tel: +66 026495000 Ext. 27062

No Code Website Builder