Mobirise

เกี่ยวกับภาควิชา

1. ประวัติและความเป็นมาของภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มศว
          ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตสาขาวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ สืบเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนวิศวกรชีวการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการออกแบบ พัฒนา และปรับปรุง วัสดุ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้ในสถานพยาบาลทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งในปัจจุบันวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์โดยการบูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมหลากหลายสาขา เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ รู้เท่าทันการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ และสามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้ ทำให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ดำเนินโครงการจัดตั้งสาขาวิศวกรรมศาสตร์ชีวการแพทย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งขณะนั้น อาจารย์อารีย์ หาญสืบสาย คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นผู้ผลักดันหลักสูตร และได้แต่งตั้งให้ ดร.วงศ์วิทย์ เสนะวงศ์ ผศ. วัชรชัย วิริยะสุทธิวงศ์ ผศ. เกียรติชัย รักษาชาติ ผศ. นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์ และนพ.ชลวิช จันทร์ลลิต เป็นกรรมการประจำหลักสูตร มีเป้าหมายผลิตบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองในประเทศไทยที่มีหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ในระดับปริญญาตรี) ภายใต้ปรัชญาของหลักสูตร “บูรณาการความรู้สู่การวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิศวกรรมการแพทย์”

Mobirise

          คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้แต่งตั้งให้ อาจารย์ ดร.วงศ์วิทย์ เสนะวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการจัดตั้งสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ โดยมีอาจารย์ประจำสาขาในช่วงก่อตั้งสาขาคือ อาจารย์ ธีระศักดิ์ จันทร์วิเมลือง อาจารย์ สุชาดา ตันติสถิระพงษ์ และ อาจารย์ ดร.ฑีฆพันธุ์ เจริญพงษ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้เปิดรับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์รุ่นแรกในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2552 จำนวน 35 คน โดยมีคณาจารย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ สหเวชศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าร่วมสอนวิชาพื้นฐาน และวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมชีวการแพทย์ จากนั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2559 ดร.อัมราพร บุญประทะทอง, ดร.ดิเรก เสือสีนาค, ดร.ชไมพร สุขแจ่มศรี และ ดร.ทวีชัย อวยพรกชกร ได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำสาขา รวมทั้งสิ้น 8 ท่าน โดยอาจารย์แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญทางวิศกรรมชีวการแพทย์แตกต่างกันไป เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์แพทย์ วิศวกรรมโรงพยาบาล การวิเคราะห์ทางภาพถ่ายทางการแพทย์ ระบบสมองกลฝังตัว การวิเคราะห์สัญญาณทางการแพทย์ และชีวกลศาสตร์

Mobirise

          ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ยังได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนมาโดยต่อเนื่อง เพื่อให้อาจารย์และบุคคลภายนอกรับทุนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกในต่างประเทศ เพื่อกลับมาปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชา นอกจากนี้ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ยังได้ทำข้อตกลงที่จะร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฟูกุ้ย (Fukui) ประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้นิสิตภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฟูกุ้ยสามารถมาแลกเปลี่ยนเพื่อทำวิจัยระยะสั้นในทั้งสองมหาวิทยาลัยได้ อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับบริษัทเครื่องมือแพทย์ เช่น บริษัท ยูไนเต็ด บีเมค (United BMEC Pte Ltd) ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อรับรองการฝึกงานกับนิสิตวิศวกรรมชีวการแพทย์

Mobirise
  บัณฑิตรุ่น 1 วิศวกรรมชีวการแพทย์

          ในระหว่างปี พ.ศ. 2552-2559 สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้ดำเนินงานหลักสูตรและการเรียนโดยมีสถานะเป็นสาขาวิชาภายใต้ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่อมาในปี 2560 สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์จึงได้เปลี่ยนฐานะเป็น “ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์” จากการสนับสนุนของ รศ.ดร.เวคิน ปิยรัตน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากต้องการความคล่องตัวในการบริหารหลักสูตร
ภาควิศวกรรมชีวการแพทย์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการและสำหรับงานวิจัย เป็นเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ 2553 - พ.ศ. 2560 ซึึ่งทำให้ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์สามารถเจริญเติบโตทั้งด้านการเรียนการสอนและงานวิจัย โดยมีห้องทดลองทางคอมพิวเตอร์ประมวลผลภาพทางการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์และไมโครโปรเซสเซอร์ ชีวกลศาสตร์ สัญญาณไฟฟ้าชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งผลักดันให้คณาจารย์และนิสิตของภาควิชาสร้างผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมทางการแพทย์และได้สร้างชื่อเสียงในระดับประเทศ และในระดับนานาชาติมากมาย และได้รับรางวัลจากงานประกวดรวมถึงการประชุมทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง 

Mobirise

2. ปรัชญาของหลักสูตร
          “บูรณาการความรู้สู่การวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิศวกรรมการแพทย์”
3. พันธกิจ

          1. เพื่อผลิตบัณฑิตวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่มีความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ มีจรรยาบรรณใน วิชาชีพ และมีทักษะในการวิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรมได้อย่างมีคุณภาพ
          2. เพื่อผลิตบัณฑิตวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถในการบูรณาการความรู้ด้าน วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้อย่างเพียงพอ ต่อการวิจัยและพัฒนางานนวัตกรรมใหม่ ให้เหมาะสมกับสภาพอุตสาหกรรมและการบริการของประเทศ และเป็นผู้มี ความพร้อมที่จะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นต่อไปได้

Mobirise

4. ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก
          ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้ดำเนินงานสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฟูกุ้ย (Fukui) ประเทศญี่ปุ่น และ Southern Taiwan University of Technology ไต้หวัน เพื่อให้นิสิตภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรีของทั้งสองมหาวิทยาลัยมาแลกเปลี่ยนเพื่อทำวิจัยระยะสั้นได้ นอกจากนี้ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ยังได้รับความร่วมมือกับบริษัทเครื่องมือแพทย์ เช่น บริษัท ยูไนเต็ด บีเมค (United BMEC Pte Ltd) ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อรับรองการฝึกงานกับนิสิตของภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ส่วนหน่วยงานได้รับความร่วมมือในการนำนิสิตไปดูงาน ประกอบไปด้วย
          • สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
          • โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
          • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA)
          • ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ยังได้ทำความร่วมมือในเรื่องงานวิจัยกับหน่วยงานภายนอกดังนี้
          • โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
          • คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
          • คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
          • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
          • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
          • โรงพยาบาลองครักษ์
          • คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          • ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
          • ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
          • บริษัท CMC Biotech
          • บริษัท Thai GL
          • โรงพยาบาลชลบุรี

Mobirise
ที่อยู่:

อาคารวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางวิศวกรรมไฟฟ้า (อาคาร G) ชั้น 7

ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์
คณะวิศกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
63 หมู่ 7 ต.องครักษ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก 26120


ติดต่อ:

อีเมล
โทร: 026495000 ต่อ 27062

Address:
  • Electrical Engineering R&D Building (Building G), floor 7

  • Department of Biomedical Engineering, Srinakharinwirot University
  • 63 Moo 7, Ongkharak,
  • Nakhon Nayok, 26120
Contacts:

Email
Tel: +66 026495000 Ext. 27062

Best AI Website Creator